วิธีเลือกเพาเวอร์แอมป์รถยนต์

พื้นฐาน วิธีเลือกเพาเวอร์แอมป์รถยนต์

   คำถามที่ได้ยินกันอยู่เสมอ หรือพบบ่อย ก็คือ ใช้เพาเวอร์แอมป์รถยนต์กำลังขับเท่าไร ถึงจะเหมาะสมกับลำโพงซับวูเฟอร์ ? หรือ เสียงเบสส์ไม่ค่อยออก แนะนำเพาเวอร์แอมพ์ดีๆ ให้หน่อย คอลัมน์นี้จะบอกถึงวิธีเลือก และเล่นเครื่องเสียงตามปกติในระดับมาตรฐาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจเลือกเพาเวอร์แอมพ์ ให้กับระบบเสียงในรถของคุณได้ เพาเวอร์แอมป์รถยนต์จะได้รับสัญญาณจากเฮดยูนิท (วิทยุรถยนต์) เพื่อขยายสัญญาณเสียงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเพียงพอก่อนที่จะส่งไปขับลำโพงรถยนต์ เป็นการดีที่จะใช้เพาเวอร์แอมพ์แยกขับต่างหากสำหรับความถี่สูง และความถี่ต่ำ แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันมีเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ประเภทมัลทิแชนแนล สามารถขับลำโพงกลาง/แหลม และซับวูเฟอร์ได้ครบทั้งระบบเสียง แต่มีหลายคนที่เริ่มต้นเล่นระบบเสียงโดยนึกถึงพลังเสียงเบสส์ของซับวูเฟอร์ก่อนเป็นอันดับแรก และใช้เฮดยูนิทที่มีไฮเพาเวอร์ขับลำโพงกลาง/แหลม ซึ่งภาคขยายในตัววิทยุนั้นให้ความดังเสียงไม่เพียงพอกับการได้ยิน กำลังขับเท่าไรถึงจะดี มีหลายวิธีในการวัดกำลังวัตต์ของเพาเวอร์แอมพ์ติดรถยนต์ หลายคนอาจคิดว่าเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ของตัวเองมีกำลังขับมากกว่าคนอื่น แต่เมื่อดูกฎฟิสิกส์จะบอกได้ว่า พลังงาน (POWER) เป็นผลคูณระหว่าง กระแส และแรงดันไฟฟ้า (POWER = VOLTAGExCURRENT) ตัวอย่างเช่น ถ้าเพาเวอร์แอมพ์ใช้แรงดันไฟฟ้า 12 โวลท์ และกินกระแสไฟฟ้าที่ 20 แอมพ์ ดังนั้นเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ของคุณจะมีกำลังขับอยู่ที่ 240 วัตต์ แต่ในความเป็นจริง เพาเวอร์แอมพ์ทั่วไปจะสูญเสียพลังงานถึง 50 % ซึ่งกลายเป็นรูปแบบพลังงานความร้อน ดังนั้น เพาเวอร์แอมพ์จึงมีกำลังขับจริงเพียง 120 วัตต์เท่านั้น วิธีตรวจสอบกำลังวัตต์จริง มีหลายวิธีในการวัดค่าพลังงาน (POWER) ซึ่งสามารถวัดที่ปลายสุดของสัญญาณ (วัดที่จุด PEAK หรือ MAX) เริ่มตั้งแต่ 0 องศา ของรูปคลื่นสัญญาณ ไปที่ 90 องศา (บางครั้งเรียก MUSIC POWER) วิธีที่ถูกต้องที่สุดในการวัดพลังงานจะใช้หน่วยเป็น RMS (ค่าเฉลี่ยต่อเนื่องของพลังงานไฟฟ้า) วิธีหาค่าเฉลี่ย RMS จากการวัดพลังงานไฟฟ้า ที่ระบุเป็น PEAK หรือ MAX นั้น ทำได้ด้วยการหารด้วย 3 ซึ่งค่า MUSIC POWER เป็นค่าครึ่งหนึ่งของค่า PEAK POWER ตัวอย่างเช่น เพาเวอร์แอมป์รถยนต์มีกำลังขับสูงสุดที่ 100 วัตต์/แชนแนล PEAK ดังนั้นค่า MUSIC POWER จะได้เพียงแค่ 50 วัตต์/แชนแนล และค่ากำลังขับที่ใช้หน่วย RMS จะได้เป็น 33 วัตต์/แชนแนล คุณควรจะตรวจสอบรายละเอียดด้านสเปคของเพาเวอร์แอมพ์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ตัวนั้นมีกำลังขับจริงตรงตามที่คุณต้องการ ในบางครั้งก็มีบางบริษัทที่ระบุโดยใช้เงื่อนไขบางอย่างในการวัดค่าพลังงานของเพาเวอร์แอมพ์ เช่น การคำนวณพลังงานที่แรงดันไฟฟ้า 15 โวลท์ และโหลดความต้านทานที่ต่ำกว่า 2 โอห์ม เป็นต้น เพื่อความแน่ใจควรดูแรงดันไฟฟ้าที่ใช้วัดทดสอบที่เกิดขึ้นจริง และใช้โหลดปกติที่ 4 โอห์ม ต้องการกำลังขับเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น ลำโพงกลาง และแหลม ใช้เพาเวอร์แอมพ์กำลังขับตั้งแต่ 30-50 วัตต์/แชนแนล RMS ส่วนลำโพงซับวูเฟอร์ควรใช้กำลังขับไม่น้อยกว่า 80-150 วัตต์ (หรือมากกว่านี้) เนื่องจากหูมนุษย์มีความ ไวต่อความถี่สูงมากกว่าความถี่ต่ำ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเพาเวอร์แอมพ์ขนาด 50 วัตต์x4 แชนแนล ขับลำโพงกลาง/แหลมทั้งหมด (กำลังขับรวม = 200 วัตต์) ดังนั้นเพาเวอร์แอมพ์สำหรับขับลำโพงซับวูเฟอร์ควรจะมี กำลังขับอย่างน้อย 200 วัตต์ หรือมากกว่านี้ หลายคนสงสัยกันว่า กำลังขับเพาเวอร์แอมป์รถยนต์มากเกินไปจะสร้างความเสียหายให้กับลำโพงได้ แต่ความเสียหายของลำโพงที่เกิดขึ้นจะมาจากความเพี้ยน ไม่ใช่กำลังขับ ถ้าลำโพงได้รับการตัดความถี่ที่เหมาะสม และไม่มีความเพี้ยน เป็นเรื่องยากที่จะเกิดความเสียหาย และเพาเวอร์แอมพ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะต้องการระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถจ่ายไฟให้กับระบบเครื่องเสียงในรถได้อย่างเพียงพอ มองอะไรในเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ โดยปกติเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ที่มีจำหน่ายในตลาดเครื่องเสียงจะใส่วงจรครอสส์โอเวอร์ไว้ในตัว โดยไม่ต้องไปซื้อครอสส์โอเวอร์เพิ่มเติม ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าหากในระบบเสียงมีลำโพงหลายตัว จำเป็นต้องตรวจสอบด้วยว่า เพาเวอร์แอมป์รถยนต์มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขับเล่นที่โหลด 2 โอห์ม (หรือน้อยกว่า) ได้หรือไม่ นอกจากนี้อาจจะต้องวางแผนเพื่อที่จะยกระดับระบบเสียงของคุณให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น และควรดูที่ค่าความเพี้ยน THD ด้วย เพราะค่านี้ยิ่งต่ำมากเท่าไร นั่นก็หมายถึง ความชัดเจนของเสียงดนตรีที่จะเพิ่มตามไปด้วย เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ในแต่ละ CLASS เพาเวอร์แอมป์รถยนต์CLASS A นั้นจะให้เสียงดนตรีที่ถูกต้องมากที่สุด แต่ก็มีข้อบกพร่องบางอย่างที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของความร้อน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำงานเพียง 25 % เท่านั้น ดังนั้นเพาเวอร์แอมพ์ประเภทนี้จึงมีแผงฮีทซิงค์ และพัดลมระบายความร้อนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีราคาที่แพง เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ CLASS B นั้นจะพบมากที่สุด การทำงานจะใช้ทรานซิสเตอร์เอาท์พุท 2 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งทำงานในซีกบวกของสัญญาณ และอีกตัวหนึ่งทำงานในซีกลบของสัญญาณ โดยนำสัญญาณทั้งสองมารวมกัน ปัญหาการออกแบบวงจร CLASS B จะเกิดความเพี้ยนเล็กๆ ที่บริเวณรอยต่อของสัญญาณซีกบวกกับซีกลบ แต่ก็เป็นที่ยอมรับของนักเล่นเครื่องเสียง และมีความร้อนน้อยกว่าแบบ CLASS A ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก และมีประสิทธิภาพในการทำงานประมาณ 50 % เพาเวอร์แอมป์รถยนต์CLASS AB เป็นการออกแบบรวมกันของเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ทั้ง 2 ชนิดข้างต้น ซึ่งการทำงานจะใช้วงจร CLASS A ขยายสัญญาณในระดับต่ำก่อนที่จะสวิทช์การทำงานไปเป็น CLASS B เพื่อให้กำลังขยายมีระดับเสียงที่เพิ่มมากขึ้น เพาเวอร์แอมป์รถยนต์ CLASS D เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เครื่องขยายเสียง CLASS D (เครื่องขยายเสียงดิจิทอล) เพาเวอร์แอมพ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นดิจิทอลจริงๆ แต่ทำงานในทำนองเดียวกับการแปลงสัญญาณดิจิทอลเป็นแอนาลอก สามารถให้กำลังขับได้สูงกว่า 1,000 วัตต์ และมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า 80 %